Unrestricted Submarine Warfare (-)

สงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด (-)

สงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด เป็นการสู้รบทางทะเลในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ที่เรือดำน้ำเยอรมันโจมตีเรือสินค้า รวมถึงเรือโดยสารของฝ่ายศัตรูและชาติที่วางตัวเป็นกลางอย่างฉับพลันโดยปราศจากคำเตือน ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* ทรงเห็นชอบกับข้อเสนอของพลเอก เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* พลเอกเอริช ลูเดนดอร์ฟ (Erich Ludendorff)* และเฮนนิก ฟอน โฮลท์เซนดอร์ฟ (Henning von Holtzendorff) ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ที่ทูลเสนอพระองค์ว่า เยอรมนีไม่อาจมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดทางบกได้และหากทำสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด เยอรมนีจะชนะสงครามได้ เพราะหากจมเรือฝ่ายมหาอำนาจสัมพันธมิตร (Allied Powers)* ได้มากก็สามารถตัดการคมนาคมขนส่งของฝ่ายสัมพันธมิตร และอาจบีบบังคับให้ฝ่ายศัตรูยอมสงบศึกได้ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรง เห็นชอบและให้ดำเนินการได้ กองทัพเรือแห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* จึงใช้เรือดำน้ำโจมตีเรือสินค้าและเรือโดยสารของราชนาวีอังกฤษรวมถึงเรือของชาติเป็นกลางที่แล่นเข้ามาในน่านน้ำเขตสงคราม สงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดจึงทำให้ชาติที่เป็นกลางไม่พอใจเยอรมนีและเข้าร่วมสงครามเพื่อต่อต้านเยอรมนี

 เรือดำน้ำถูกใช้ในการรบเป็นครั้งแรกในสงครามกลางเมืองอเมริกัน (American Civil War ค.ศ. ๑๘๖๑–๑๘๖๕) เมื่อเรือดำน้ำเอช. แอล. ฮันลีย์ (H. L. Hunley) ของรัฐทางตอนใต้โจมตีเรือรบฮูซาทอนิก (Housatonic) ของรัฐทางตอนเหนือในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๖๔ จนเรือฮูซาทอนิกได้รับความเสียหายอย่างหนัก ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ปัญหาการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)* ทำให้มหาอำนาจในยุโรปขัดแย้งและแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคม สะสมอาวุธและสร้างแสนยานุภาพทางบกและทางเรือ จนแตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย คือกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* และกลุ่มประเทศสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance)* หลายประเทศหันมาสนใจพัฒนาเทคโนโลยีเรือดำน้ำเพื่อเป็นเครื่องมือในการข่มขวัญคู่ขัดแย้งและป้องกันตนเอง ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ อู่ต่อเรือแกร์มาเนีย (Germania) ในเมืองคีล (Kiel) ของเยอรมนีสร้างเรือดำน้ำ “ฟอเรลเลอ” (Forelle) สำเร็จ แต่ในขณะนั้นอัลเฟรด ฟอน เทียร์พิทซ์ (Alfred von Tirpitz)* ปลัดกระทรวงทหารเรือ ปฏิเสธไม่ซื้อเรือฟอเรลเลอเนื่องจากมุ่งความสนใจไปที่การสร้างเรือรบขนาดใหญ่เพื่อถ่วงดุลอำนาจทางทะเลกับอังกฤษ ฟรีดริช ครุปป์ (Friedrich Krupp) เจ้าของอู่ต่อเรือแกร์มาเนียจึงขายเรือฟอเรลเลอให้แก่กองทัพเรือรัสเซียซึ่งใช้เรือฟอเรลเลอเข้าร่วมรบในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๐๕)*

 อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาเยอรมนีเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของเรือดำน้ำ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเรืออู (U-boat)* เทียร์พิทซ์จึงมอบหมายให้กุสตาฟ แบร์ลิง (Gustav Berling) วิศวกรประจำกองทัพเรือออกแบบเรือดำน้ำสำหรับกองทัพ แบร์ลิงซึ่งทำงานร่วมกับอู่ต่อเรือแกร์มาเนียจึงออกแบบเรืออู ๑ (U1) โดยพัฒนาทางด้านเทคนิคต่อมาจากเรือฟอเรลเลอ เรืออู ๑ ดำน้ำได้ลึก ๓๐ เมตร และอยู่ใต้น้ำได้นาน ๑๒ ชั่วโมงเรืออูนี้จึงกลายเป็นเรือดำน้ำลำแรกของกองทัพเรือแห่งจักรพรรดิ และเข้าประจำการในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ อีก ๒ ปีต่อมากองทัพเรือได้พัฒนาเรืออู ๒ (U2) ซึ่งใหญ่กว่าเรืออู ๑ ครึ่งเท่าตัว และมีท่อยิงตอร์ปิโดจำนวน ๒ ท่อ อย่างไรก็ตาม ทั้งเรืออู ๑ และอู ๒ กลับไม่ถูกใช้ในการรบ แต่เป็นเรือสำหรับฝึกนักเรียนนายเรือเท่านั้น ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ เยอรมนีได้พัฒนาเรืออู ๑๙ (U19) โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก จึงทำให้การทำงานของเรืออู ๑๙ มีประสิทธิภาพโดยแล่นได้เร็วถึง ๒๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่ออยู่เหนือน้ำ และใต้น้ำประมาณ ๑๗ กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 ในขณะที่เยอรมนีเร่งพัฒนาเรือดำน้ำนั้น ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ จอห์น ฟิลิป ฮอลแลนด์ (John Philippe Holland) วิศวกรออกแบบสร้างเรือชาวไอริช-อเมริกันเรืออูที่กองทัพเรือเยอรมนีใช้ในสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดก็ได้พัฒนาเรือดำน้ำฮอลแลนด์๑ให้แก่ราชนาวีอังกฤษสำเร็จ ในปีถัดมาบริษัทวิคเกอรส์ (Vickers) สามารถพัฒนาเรือดำน้ำรุ่นเอคลาส (A-Class) ที่แล่นได้ถึง ๒๑ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่ออยู่เหนือน้ำ และ ๑๒ กิโลเมตร ต่อชั่วโมงใต้น้ำ ซึ่งทำให้ราชนาวีอังกฤษพอใจมาก จนสั่งผลิตเรือรุ่นนี้ถึง๑๓ ลำระหว่างค.ศ. ๑๙๐๒–๑๙๐๓ ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ บริษัทวิคเกอรส์ได้ผลิตเรือดำน้ำรุ่นบีคลาส (B-Class) ให้แก่ราชนาวีอังกฤษจำนวน ๑๑ ลำ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและแล่นได้เร็วกว่ารุ่นเอคลาสเล็กน้อย ในปีถัดมาบริษัทวิคเกอรส์ยังได้เริ่มพัฒนาเรือดำน้ำรุ่นซีคลาส (C-Class) ซึ่งสามารถแล่นได้เร็วกว่ารุ่นบีคลาสเล็กน้อยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๐๖ บริษัทวิคเกอรส์ผลิตเรือรุ่นนี้ให้แก่ราชนาวีอังกฤษถึง ๓๘ ลำ ราชนาวีอังกฤษจึงเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามของกองทัพเรือเยอรมัน จนทำให้กองทัพเรือของทั้ง ๒ ประเทศผลิตเรือดำน้ำรวมถึงเรือรบชนิดต่างๆเพื่อให้ได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้น

 เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* พร้อมดัชเชสโซฟี โชเต็ก (Sophie Chotek)* พระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ที่กรุงซาราเยโว (Sarajevo) ในบอสเนีย (Bosnia) เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๔ การลอบปลงพระชนม์ดังกล่าวจึงได้เป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมืองจนลุกลามกลายเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* หนึ่งเดือนหลังเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ ออสเตรีย-ฮังการี ประกาศสงครามกับเซอร์เบียเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม เยอรมนี ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามต่อรัสเซียและฝรั่งเศสและมุ่งเผด็จศึกฝรั่งเศสตามแผนชลีฟเฟิน (Schlieffen Plan)* เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม เพื่อบุกฝรั่งเศสผ่านเบลเยียมโดยหวังยึดฝรั่งเศสให้ได้เร็วที่สุดอย่างไรก็ตามหลังจากยึดเบลเยียมได้ เยอรมนีไม่สามารถยึดฝรั่งเศสได้ตามแผน อังกฤษจึงส่งทหารผ่านช่องแคบอังกฤษมาช่วยฝรั่งเศส ในช่วงเวลาเดียวกัน รัสเซียก็บุกโจมตีกองทัพออสเตรีย-ฮังการีทางแนวรบด้านตะวันออกจนออสเตรีย-ฮังการีตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ และเยอรมนีต้องแบ่งกำลังทหารจากการบุกฝรั่งเศสไปตั้งรับรัสเซียที่บุกปรัสเซียตะวันออกเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔

 แนวรบ ๒ ด้านดังกล่าวทำให้เยอรมนีตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องยุติสงครามให้เร็วที่สุด รวมถึงการเปิดการรบทางทะเลโดยเฉพาะในการรบด้านทิศตะวันตกเพื่อไม่ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรลำเลียงทหารหรือปัจจัย ๔ อื่น ๆ ถึงกันได้สะดวก ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ หน่วยบัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเรือจึงเริ่มใช้วิธีวางทุ่นระเบิดใต้น้ำและใช้เรือดำน้ำโจมตีเรือลาดตระเวนและเรือรบ เพื่อลดความได้เปรียบทางด้านจำนวนเรือที่ราชนาวีอังกฤษมีเหนือกองทัพเรือเยอรมัน เพียง ๑ เดือน หลังเริ่มปฏิบัติการ เรือดำน้ำอู ๑๙ สามารถจมเรือลาดตระเวนอังกฤษได้ถึง ๓ ลำ อังกฤษตอบโต้ด้วยการปิดล้อมทางทะเลระหว่างสกอตแลนด์กับนอร์เวย์ และประกาศให้เขตทะเลเหนือเป็นเขตสงครามเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๔ พร้อมเตือนว่า เรือใด ๆ ที่แล่นเข้ามาในบริเวณนี้อาจได้รับอันตราย เยอรมนีจึงถูกตัดขาดจากมหาสมุทรแอตแลนติก การนำเข้าอาหาร อาวุธ และของใช้อื่น ๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก พลเรือเอก ฮูโก ฟอน โพล (Hugo von Pohl) ผู้บังคับบัญชากองเรือรบเดินสมุทรเยอรมันจึงเสนอให้ใช้เรือดำน้ำโจมตีเรือสินค้าอังกฤษเนื่องจากทราบดีว่าเยอรมนีมีจำนวนเรือไม่มากพอที่จะสู้กับราชนาวีอังกฤษโดยตรงได้ฟรีดริชฟอน อิงเกนโอล (Friedrich von Ingenohl)อดีตผู้บังคับบัญชากองเรือรบเดินสมุทรเยอรมัน และเทียร์พิทซ์สนับสนุนข้อเสนอนี้อย่างเต็มที่ ในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๕ โพลจึงประกาศในหนังสือพิมพ์ Deutscher Reichsanzeiger ของรัฐบาล ให้พื้นที่ทางทะเลรอบ ๆ อังกฤษ ไอร์แลนด์รวมถึงช่องแคบอังกฤษเป็นเขตสงคราม เรือสินค้าของชาติศัตรูลำใดที่เข้ามาในบริเวณนี้นับตั้งแต่วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ เป็นต้นไปจะถูกทำลาย ส่วนเรือของชาติเป็นกลางก็อาจได้รับอันตราย คำประกาศนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด โดยเยอรมนียอมเพิกเฉยกฎสากลของการทำสงครามทางทะเล ที่กำหนดให้มีการให้สัญญาณก่อนที่จะโจมตีเรือสินค้าได้

 การประกาศสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดได้นำไปสู่วิกฤตการณ์แทรชเชอร์ (Thrasher Incident) ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เมื่อเรือดำน้ำเยอรมันจมเรือสินค้าอังกฤษชื่อฟาลาบา (Falaba) ที่กำลังเดินทางจากเมืองลิเวอร์พูล (Liverpool) ไปยังชายฝั่งทวีปแอฟริกาทางทิศตะวันตกเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๑๐๔ คน รวมถึงลีออน เชสเตอร์ แทรชเชอร์ (Leon Chester Thrasher) วิศวกรเหมืองแร่ชาวอเมริกัน ซึ่งนับเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่เสียชีวิตในสงคราม หลังการจมเรือ ชาวอเมริกันต่างตื่นตระหนกกับการเสียชีวิตของพลเมืองอเมริกัน และบ้างเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเตรียมประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลเยอรมันชี้แจงว่าเรือฟาลาบาบรรทุกระเบิด และเรือดำน้ำเยอรมันได้ส่งสัญญาณเตือนและให้เวลาลูกเรือสำหรับอพยพผู้โดยสารแล้ว แต่ลูกเรือกลับใช้เวลานั้นในการแจ้งพิกัดให้ฝ่ายอังกฤษทราบ ประธานาธิบดีวิลสันซึ่งต้องการรักษาความเป็นกลางของสหรัฐอเมริกาอยู่แล้วจึงระงับการตัดสินใจที่จะประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง

 หนึ่งเดือนหลังเกิดวิกฤตการณ์แทรชเชอร์ เรือดำน้ำเยอรมันได้จมเรือโดยสารอังกฤษชื่อลูซิแทเนีย (Lusitania) บริเวณนอกชายฝั่งของไอร์แลนด์ ขณะที่เรือกำลังเดินทางจากนิวยอร์กมายังลิเวอร์พูลเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ผู้โดยสารเสียชีวิตรวมทั้งหมด ๑,๑๙๘ คน โดยในจำนวนนี้เป็นชาวอเมริกัน ๑๒๘ คน การจมเรือลูซิแทเนียจึงสร้างความตึงเครียดทางด้านการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกากับเยอรมนีขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลเยอรมันยืนยันสิทธิของตนในการจมเรือลูซิแทเนียเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม โดยอ้างว่าลูซิแทเนียเป็นเรือสงครามและบรรทุกอาวุธในขณะที่ถูกยิงรัฐบาลเยอรมันยังอ้างถึงคำประกาศให้พื้นที่ทางทะเลรอบ ๆ อังกฤษ ไอร์แลนด์ รวมถึงช่องแคบอังกฤษเป็นเขตสงคราม ชาวอเมริกันต่างโกรธแค้นและเริ่มต่อต้านเยอรมนีมากขึ้น ทั้งเรียกร้องให้ประธานาธิบดีวิลสันประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางอย่างไรก็ตามประธานาธิบดีวิลสันได้ตัดสินใจไม่ประกาศสงครามในทันที แต่เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันขอโทษ และชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงยังยืนยันสิทธิของชาวอเมริกันที่จะโดยสารเรือโดยสารได้โดยเสรีในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ประธานาธิบดีวิลสันจึงส่งสารถึงรัฐบาลเยอรมันเพื่อเรียกร้องให้ระงับการทำสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด

 อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ เรือดำน้ำเยอรมันได้ยิงเรือโดยสารอังกฤษชื่ออารบิก (Arabic) จมนอกชายฝั่งของไอร์แลนด์ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๔๔ คน ซึ่งมีชาวอเมริกัน ๓ คน รวมอยู่ด้วย ในวันที่ ๒๒ สิงหาคมรัฐบาลอเมริกันแจ้งความจำนงจะตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหากพบว่าเรือดำน้ำเยอรมันจงใจจมเรืออารบิกก็จะตัดความสัมพันธ์กับเยอรมนีแถลงการณ์นี้จึงทำให้รัฐบาลเยอรมันเริ่มกังวลเนื่องจากเกรงว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งจะทำให้เยอรมนีเสียเปรียบในการรบมากขึ้น เทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์ ฮอลล์เวก (Theobald von Bethmann Hollweg)* อัครมหาเสนาบดีจึงทูลเสนอไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ให้เยอรมนียกเลิกนโยบายสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดเพื่อป้องกันการหมางใจกับประเทศที่เป็นกลางแม้นายทหารระดับสูงโดยเฉพาะโพลและเทียร์พิทซ์จะคัดค้านข้อเสนอนี้ แต่พลเอก เอริช ฟอน ฟัลเคนไฮน์ (Erich von Falkenhayn)* เสนาบดีว่าการกระทรวงกลาโหมและประธานคณะเสนาธิการทหารเยอรมันกลับสนับสนุนฮอลล์เวก ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จึงทรงลงพระนามในคำสั่งเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ อนุญาตให้เรือดำน้ำโจมตีเรือของฝ่ายศัตรูเท่านั้น และห้ามโจมตีเรือโดยสารเด็ดขาด ส่วนในกรณีที่จะโจมตีเรือของชาติที่เป็นกลาง จะต้องทำตามกฎสากลโดยจะต้องให้สัญญาณในการเข้าโจมตีก่อนเท่านั้น

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๕ สถานการณ์การรบสำหรับฝ่ายมหาอำนาจกลางในแนวรบด้านตะวันออกเป็นไปด้วยดีมากขึ้นเนื่องจากบัลแกเรียเข้าสู่สงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ และร่วมมือกับออสเตรีย-ฮังการีเข้ายึดครองเซอร์เบียได้ในเดือนธันวาคมนั้นเอง ในช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๑๖ มกุฎราชกุมารวิลเลียม ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองทัพที่ ๕ สนับสนุนความคิดของฟัลเคนไฮน์ในการเปิดแนวรบด้านตะวันตกที่แวร์เดิง (Verdun) เพื่อบีบให้อังกฤษยอมยุติสงคราม ในสถานการณ์ดังกล่าวกองทัพเรือเยอรมันจึงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะเสนอให้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ผ่อนปรนความเข้มข้นในการระงับใช้นโยบายสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด โดยให้เรือดำน้ำโจมตีเรือสินค้าที่ติดอาวุธได้โดยไม่ต้องแจ้งเตือนล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ก็ถูกระงับ เมื่อเรือดำน้ำเยอรมันรุ่นอูเบ ๒ (UB II) ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ที่ผลิตใน ค.ศ. ๑๙๑๕ และดำน้ำได้ลึกถึง ๕๐ เมตร ยิงเรือโดยสารอังกฤษชื่อซัสเซกซ์ (Sussex)ในบริเวณช่องแคบอังกฤษเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ การโจมตีทำให้มีผู้เสียชีวิตราว ๕๐ คน แม้จะไม่มีชาวอเมริกันเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่การยิงเรือซัสเซกซ์ก็ได้ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัฐบาลอเมริกันกับเยอรมันขึ้นอีกครั้งจนรัฐบาลเยอรมันต้องยอมประกาศ “คำสัญญาซัสเซกซ์” (Sussex Pledge) ในวันที่ ๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ซึ่งให้คำมั่นว่าเรือดำน้ำเยอรมันจะไม่โจมตีเรือโดยสาร จะโจมตีเรือสินค้าเฉพาะลำที่พิสูจน์ได้ว่าบรรทุกอาวุธจริง และจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและลูกเรือเสมอคำสัญญาซัสเซกซ์ทำให้นายทหารระดับสูงผิดหวังโดยเฉพาะเทียร์พิทซ์ เขาจึงลาออกจากราชการเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๖

 ในขณะที่ยุทธการที่แวร์เดิง (Battle of Verdun)* ประสบความสำเร็จในครึ่งแรกของ ค.ศ. ๑๙๑๖ ไรน์ฮาร์ด เชียร์ (Reinhard Scheer) ผู้บังคับบัญชากองเรือรบเดินสมุทรเยอรมันคนใหม่ ซึ่งรับหน้าที่ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๖ แทนโพลที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง จึงต้องการทำลายการปิดล้อมทางทะเลของอังกฤษระหว่างน่านน้ำสกอตแลนด์กับนอร์เวย์ หากปฏิบัติการสำเร็จก็จะทำให้เยอรมนีขนส่งยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารผ่านทางมหาสมุทรแอตแลนติกได้สะดวกขึ้น เยอรมนีวางแผนก่อกวนตามแนวชายฝั่งอังกฤษเพื่อล่อให้กองเรือรบขนาดกลางของอังกฤษเข้ามาถูกโจมตีโดยกองเรือรบเดินสมุทรเยอรมันและนำไปสู่ยุทธนาวีที่คาบสมุทรจัตแลนด์ (Battle of Jutland)* ระหว่างวันที่ ๓๑ พฤษภาคม–๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๖ อังกฤษสามารถจับสัญญาณสื่อสารจึงล่วงรู้แผนของกองทัพเรือเยอรมัน พลเรือเอก จอห์น เจลลิโค (John Jellicoe) ผู้บัญชาการกองเรืออังกฤษ จึงสั่งให้เรือรบขนาดใหญ่ประเภทเรือประจัญบานเดรดนอต (Dreadnought)* ร่วมกับเรือลาดตระเวนอื่น ๆ โจมตีกองเรือเยอรมัน การรบครั้งนี้จึงถือเป็นศึกใหญ่ที่สุดระหว่างเรือรบขนาดใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และจบลงด้วยความเสียหายของกองเรือทั้ง ๒ ฝ่าย โดยที่กองทัพเรือเยอรมันไม่สามารถทำลายการปิดล้อมทางทะเลของอังกฤษได้ ส่วนราชนาวีอังกฤษซึ่งมีเรือที่ใช้ในการรบเป็นจำนวนมากกว่า แม้ไม่สามารถปราบกองทัพเรือเยอรมันได้เด็ดขาด แต่ก็ยังคงครองความเป็นเจ้าทะเลในทะเลเหนือได้จนสิ้นสุดสงคราม อย่างไรก็ตาม ยุทธนาวีที่คาบสมุทรจัตแลนด์ทำให้ ๒ ฝ่าย ตระหนักว่าเรือรบขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพในการรบน้อยกว่าที่คาดหวัง

 บทเรียนจากการรบที่จัตแลนด์ทำให้เฮนนิก ฟอน โฮลท์เซนดอล์ฟ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเรือเขียนรายงานทูลไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ เรียกร้องให้พระองค์ทรงอนุมัติการใช้นโยบายสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดอีกครั้ง โฮลท์เซนดอล์ฟซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากฮินเดนบูร์กและลูเดนดอร์ฟทูลเสนอว่า หากทรงอนุมัติอังกฤษจะถูกบีบให้เป็นฝ่ายตั้งรับภายในเวลา ๕ เดือน และจะยอมแพ้ภายในเวลา ๘ เดือน เยอรมนีจึงไม่ต้องกังวลเรื่องสหรัฐอเมริกาที่หากเข้าสู่สงครามก็จะเข้าร่วมภายหลังจากที่เยอรมนีได้รับชัยชนะในการรบทางด้านตะวันตกและอังกฤษยอมแพ้ รายงานของโฮลท์เซนดอล์ฟ และสถานการณ์การรบใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ที่เยอรมนีและฝ่ายมหาอำนาจกลางเสียเปรียบตามแผนการโจมตีของนายพลอะเล็กเซย์ บรูซิลอฟ (Aleksei Brusilov) ที่เรียกว่า “การรุกรบบรูซิลอฟ” (Brusilov Offensive) ในแนวรบด้านตะวันออกและยุทธการที่แม่น้ำซอม (Battle of the Somme)* ในแนวรบด้านตะวันตกทำให้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงยอมให้เยอรมนีกลับมาใช้นโยบายสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดอีกครั้งเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ สหรัฐอเมริกาจึงประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมนีในอีก ๒ วันต่อมา สงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดยังทำให้อาร์ทูร์ ซิมเมอร์มันน์ (Arthur Zimmermann)* เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน ส่งโทรเลขที่รู้จักกันว่า โทรเลขซิมเมอร์มันน์ (Zimmermann Telegram)* ชักชวนให้เม็กซิโกสนับสนุนเยอรมนีในกรณีสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามต่อต้านฝ่ายมหาอำนาจกลาง เยอรมนีสัญญาว่าจะช่วยให้รัฐเท็กซัส (Texas) แอริโซนา (Arizona) นิวเม็กซิโก (New Mexico) ซึ่งเคยเป็นของเม็กซิโกกลับคืนเพื่อตอบแทนในกรณีชนะสงครามเมื่อหน่วยข่าวกรองอังกฤษดักจับโทรเลขและถอดรหัสในโทรเลขได้และแจ้งให้สหรัฐอเมริกาทราบ รัฐบาลเยอรมันในเวลาต่อมาจึงยอมรับเรื่องโทรเลขเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ กระแสการต่อต้านเยอรมนีในสหรัฐอเมริกาขยายตัวกว้างมากขึ้นจนนำไปสู่การประกาศสงครามของสหรัฐอเมริกาต่อเยอรมนีเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๗ และต่อออสเตรีย-ฮังการีในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๗ แม้เรือดำน้ำเยอรมันจะทำลายเรือสินค้าอังกฤษได้ประมาณเดือนละ ๓๐๐,๐๐๐ ตัน แต่นโยบายสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดกลับไม่ประสบผลสำเร็จดังที่โฮลท์เซนดอล์ฟคาดหวังส่วนหนึ่งเป็นเพราะอังกฤษใช้ระบบขบวนเรือคุ้มกัน (Convoy System) โดยให้ขบวนเรือรบแล่นไปกับเรือสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกข้ามมหาสมุทร เรือดำน้ำเยอรมันจึงไม่มีโอกาสพบเรือที่แล่นเพียงลำพังอีกต่อไป นอกจากนี้อังกฤษยังใช้วิธีการให้ลดจำนวนเรือสินค้าเพื่อจำกัดการเดินเรือตามเส้นทางแอตแลนติกเหนือ ซึ่งทำให้การสูญเสียลดลง ทั้งยังประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจจับเรือดำน้ำขณะดำ รวมทั้งลูกระเบิดน้ำลึกที่มีประสิทธิภาพด้วย ทำให้เยอรมนีทำลายเรือสินค้าอังกฤษได้เพียงเดือนละ ๑๗๗,๐๐๐ ตัน ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๗ เยอรมนีจึงไม่สามารถตัดระบบการขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารของอังกฤษได้ ทั้งไม่สามารถบีบอังกฤษให้ยอมยุติสงครามได้ การใช้นโยบายสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดของเยอรมนีจึงลดบทบาทและความสำคัญลง กองบัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเยอรมันจึงกลับมาให้ความสำคัญกับการรบทางบกจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๑ จบลงด้วยความปราชัยของฝ่ายมหาอำนาจกลางในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยรวมแล้ว นโยบายสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดสามารถทำลายเรืออังกฤษและเรือของชาติที่เป็นกลางได้รวม ๑๒ ล้านตัน ในขณะที่เยอรมนีสูญเรือไปทั้งสิ้นรวม ๘๖๖,๕๐๐ ตัน.



คำตั้ง
Unrestricted Submarine Warfare
คำเทียบ
สงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด
คำสำคัญ
- ความตกลงไตรภาคี
- ซิมเมอร์มันน์, อาร์ทูร์
- เดรดนอต
- เทียร์พิทซ์, อัลเฟรด ฟอน
- โทรเลขซิมเมอร์มันน์
- แผนชลีฟเฟิน
- ฟัลเคนไฮน์, พลเอก เอริช ฟอน
- มหาอำนาจกลาง
- มหาอำนาจสัมพันธมิตร
- ยุทธการที่แม่น้ำซอม
- ยุทธการที่แวร์เดิง
- ยุทธนาวีที่คาบสมุทรจัตแลนด์
- เรืออู
- ลัทธิจักรวรรดินิยม
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช
- สงครามกลางเมืองอเมริกัน
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮอลล์เวก, เทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์
- ฮินเดนบูร์ก, พลเอก เพาล์ ฟอน
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-